Search

วันต่อต้านยาเสพติดโลก : เยือนวัดถ้ำกระบอก กับ “สัจจะ”และสมุนไพร ที่ใช้บำบัดผู้ติดยามา 6 ทศวรรษ - บีบีซีไทย

herb-dokterethaliani.blogspot.com

อุปกรณ์ของท่านไม่สามารถใช้งานเครื่องเล่นสื่อได้

เยือนวัดถ้ำกระบอก กับ “สัจจะ”และสมุนไพรที่ใช้บำบัดผู้ติดยามา 6 ทศวรรษ

"พ่อจ๋า แม่จ๋า ลูกชั่วกลับมา มาขออภัย แม่พยักหน้า ทั้ง ๆ น้ำตาแม่ไหล ลูบหัวลูบหลังปลอบใจ แม่ให้อภัยลูกยา" กลุ่มผู้รับการบำบัดการติดยาเสพติดส่งเสียงร้องเพลง "ลูกชั่ว" ในจังหวะสนุกสนานที่มาพร้อมเสียงฉิ่งฉาบกลอง

ความรื่นเริงช่วยเปลี่ยนอารมณ์เศร้าสลดของเพลงของวง "เอราวัณ" ที่มีเนื้อหาบรรยายถึงลูกคนหนึ่งที่ติดยาเสพติด สร้างความทุกข์ใจให้พ่อแม่จนไปเลิกยาที่ถ้ำกระบอก ให้เป็นเพลงปลุกใจเพื่อนผู้ป่วยมาใหม่ที่อยู่ในชุดเครื่องแบบเสื้อขาว กางเกงแดงที่กำลังนั่งคุกเข่าเรียงแถวหน้ารางท่อระบายน้ำเพื่อ "ล้างพิษ" ที่วัดถ้ำกระบอก

Image copyright BBC Thai
Image copyright BBC Thai

กลุ่มคนต่างวัย ต่างเชื้อชาติ-ศาสนา ทั้งหญิงและชายที่ไม่รู้จักกันมาก่อน มาใช้ชีวิตร่วมกันที่วัดแห่งนี้ใน จ.สระบุรี เพราะพวกเขาตกอยู่ในสถานะเดียวกันคือ เป็นผู้ติดยาเสพติดที่ต้องการเลิกยา บางคนพยายามเลิกยาเสพติดด้วยวิธีอื่นมาก่อนแล้วแต่ไม่ได้ผล บางคนตัดสินใจให้วัดถ้ำกระบอกเป็นทางเลือกแรก บางคนปรึกษาคนรอบข้างและมาอย่างเปิดเผย บางคนแอบมาโดยไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่หลายคนมีเหมือนกันคือ ประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดจนถึงจุดที่ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2500 หลวงพ่อใหญ่ (หรือแม่ชีเมี้ยน ปานจันทร์ ซึ่งเป็นแม่ชีที่ได้รับความนับถือและผู้คนเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่) พระอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ และพระอาจารย์เจริญ ปานจันทร์ ร่วมกันก่อตั้งสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เพื่อบำบัดอาการติดฝิ่นให้กลุ่มชาวม้งที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นที่เป็นทั้งผู้ปลูกฝิ่นและผู้ติดฝิ่นด้วย

ต่อมาในปี 2502 คณะปฏิวัตินำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยอำนาจเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีจากมาตรา 17 ออกมาตรการกวาดล้างยาเสพติด และประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนหาสถานที่อดฝิ่น จากคำบอกเล่ากันปากต่อปากทำให้ประชาชนในละแวกอื่นเริ่มมาขอรับการบำบัดฝิ่นที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกด้วย

Image copyright BBC Thai
คำบรรยายภาพ พระอธิการวิเชียร กิตฺติวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำกระบอกองค์ปัจจุบัน

ในช่วง 10 ปีแรก สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกรับบำบัดผู้ติดยาเสพติดราว 27,000 คน โดยเริ่มแรกเป็นผู้ติดฝิ่นและเฮโรอีนเป็นหลัก ต่อมาในปี 2555 สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้รับการยกฐานะให้เป็นวัดถ้ำกระบอก และได้รับการจัดตั้งเป็นสถานพยาบาลประเภทสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

ปัจจุบัน วัดถ้ำกระบอกรับรักษาผู้ติดยาเสพติดทุกประเภท และเปิดรับคนทุกเชื้อชาติและศาสนา จนถึงทุกวันนี้ รับผู้ป่วยมาแล้วกว่า 1 แสนคน

เสียงจากผู้รับการบำบัด

ชัชวาล วรารักษ์ ชาวกรุงวัย 25 ปี เข้ารับการบำบัดที่วัดถ้ำกระบอกช่วงเดือน ก.พ. เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า เขาใช้ยาเสพติดมาราว 5 ปี โดยเริ่มจากใช้ตามเพื่อน จากนั้นก็เสพเป็นประจำเพื่อเข้ากลุ่ม แต่ต่อมาเริ่มหนักขึ้นจนการเสพยากลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เขาเสพติดเคตามีน โคเคน และยาอี จนเลิกไม่ได้ สภาพร่างกายและจิตใจที่แย่ลงทำให้เขาหันหน้าปรึกษาครอบครัวเพื่อมาที่วัดถ้ำกระบอก

"ไปโรงพยาบาล 3 แห่ง สุดท้ายเขาจ่ายเป็นยาเคมี กดประสาทแทน พอกินยาก็จะไม่อยากยาเสพติด แต่พอหมดฤทธิ์ยาก็อยากเล่นยาอีก มันตัดที่ปลายเหตุ ทีนี้ก็เสพยาหนักขึ้น สุขภาพจิตก็แย่ลง เลยบอกที่บ้านไปตรง ๆ ว่าติดยา" ชัชวาลเกริ่นถึงเส้นทางที่ทำให้เขาตัดสินใจมาที่นี่พร้อมความตั้งใจครั้งใหม่

Image copyright BBC Thai
คำบรรยายภาพ ชัชวาลใช้ยาเสพติดมาราว 5 ปี ก่อนตัดสินใจมาวัดถ้ำกระบอก

เขากล่าวเสริมว่า ชีวิตที่ไม่มีความสุข และการได้เห็นความทุกข์ของคนรอบข้างเป็นแรงเสริมให้เขามุ่งมั่นตั้งใจเลิกเสพยาอย่างจริงจัง "คนที่เลี้ยงเรามาเขาก็ร้องไห้...แฟนก็ไม่มีความสุข เงินก็เหลือน้อยลง เพื่อนฝูงจากที่เคยคบเราก็ไม่มีเพราะเราไม่มีเงินแล้ว" ชัชวาลเล่าถึงยายผู้เลี้ยงดูเขามาแต่เด็ก และคนรักซึ่งกำลังเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวด้วยกัน

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในปี 2562 พบว่ามีผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน 1 ปี จำนวน 1.4 ล้านคน เป็นผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง จำนวน 1.1 ล้านคน และเป็นผู้ติดสารเสพติด จำนวน 3.2 แสนคน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยจิตเวชติดสารเสพติดรุนแรง จำนวน 5,757 คน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) จำนวน 577 คน นอกจากนี้ ยังพบสถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรงในสังคมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 3.92 เท่

จากนอร์เวย์ บินตรงมาไทย

แอสตริท กาชิ ชาวนอร์เวย์ซึ่งเข้ารับการบำบัดในช่วงเวลาเดียวกัน บอกว่าเขาใช้ยาเสพติดเกือบทุกอย่าง แต่หลัก ๆ คือโคเคนกับแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยพยายามเลิกเสพยามาก่อนทั้งที่มีอาการโรคจิตหลายครั้ง จนกระทั่งอาการโรคจิตครั้งสุดท้ายที่ส่งสัญญาณเตือนว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่างกับชีวิต เขาใช้เวลาตัดสินใจ 1 วัน และซื้อตั๋วเครื่องบินออกเดินทางมาประเทศไทยทันที

Image copyright BBC Thai
คำบรรยายภาพ แอสตริทเสพยาจนมีอาการโรคจิตหลายครั้ง

"บางทีก็เห็นปีศาจ เห็นโน่นนี่ ไม่เชื่อใจคนในครอบครัว ไม่เชื่อใจแม่ตัวเอง คิดว่าทุกคนจ้องทำร้ายคุณ มันเป็นผลกรรม เป็นพลังงานแง่ลบที่ดึงพลังงานไปจากครอบครัวคุณหมด เป็นความผิดหวัง ความเศร้าในชีวิตที่ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงสักที" บทสนทนาจากชายบุคลิกร่าเริงเปลี่ยนโทนทันทีเมื่อเขาเล่าย้อนถึงความผิดพลาดในอดีต เกือบทุกครั้งที่เอ่ยถึงครอบครัวดูเหมือนแอสตริทต้องกลั้นน้ำตาไว้ รอยสักชื่อลูกสาว 2 คนที่อยู่บนลำแขนเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจเขาอยู่ตลอดเวลา

"กินยาแล้วก็อ้วก" แค่นั้นหรือ?

หลายคนรู้จักชื่อวัดถ้ำกระบอกจาก "น้ำพุ" ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือ "เรื่องของน้ำพุ" เขียนโดยสุวรรณี สุคนธา ถ่ายทอดเรื่องราวของลูกชายของผู้เขียนซึ่งติดเฮโรอีนและไปเลิกยาที่ถ้ำกระบอก ภาพติดตาที่กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวัด คือการที่ผู้ป่วยกินยาและอาเจียนออกมา

Image copyright BBC Thai

ในการเข้ารับการบำบัดที่วัดถ้ำกระบอกผู้ป่วยต้องมีความสมัครใจ และสามารถเข้ารับการรักษาได้เพียงครั้งเดียว และที่สำคัญที่สุดคือต้องให้ "สัจจะ" ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกตลอดชีวิต การรักษาประกอบไปด้วยการอบสมุนไพร การกินยาสมุนไพรที่เรียกว่า "ยาตัด" และกินยาบำรุง โดยที่วัดถ้ำกระบอกมีพระสงฆ์และแม่ชีซึ่งเป็นแพทย์และพยาบาลประจำอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องทำกิจกรรมตามตารางเวลาที่ทางวัดกำหนด โดยต้องตื่นราวตี 4 สวดมนต์ ทำความสะอาดวัด ช่วยเหลืองานในวัดตามความจำเป็น นั่งสมาธิและฟังคำสอนธรรมะด้วย

Image copyright BBC Thai
คำบรรยายภาพ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามตารางเวลาที่ทางวัดกำหนดไว้
Image copyright BBC Thai
คำบรรยายภาพ ช่วง 5 วันแรก ผู้ป่วยไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อคนภายนอก

โปรแกรมทั้งหมดใช้เวลา 15 วัน โดย ในช่วง 5 วันแรกถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด นอกจากผู้ป่วยจะไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับคนภายนอกแม้แต่คนในครอบครัวแล้ว ยังต้องกินยาตัดเพื่ออาเจียนล้างพิษ โดยผู้ป่วยที่อยู่มาเกิน 5 วันแล้วจะทำหน้าที่เป็นกองเชียร์ แสงแดดที่แผดร้อนตอนบ่ายสาม ประกอบกับเสียงเพลงและเครื่องดนตรีหลากชนิด นอกจากจะช่วยให้ผู้มาใหม่เบนความสนใจจากการอาเจียนแล้ว ยังช่วยกลบเสียงอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเขินอายน้อยลง

Image copyright BBC Thai

"ตอนแรกดูจากหนังเรื่องน้ำพุ เป็นหนังที่เด็กอายุประมาณผมต้องเคยดูทุกคน...รู้คร่าว ๆ แค่ว่า เข้ามากินยาแล้วอ้วก ผมรู้แน่ ๆ คือใจเรายอมรับแล้วที่จะเข้ามาดีทอกซ์" ชัชวาลเล่าถึงวัดถ้ำกระบอกที่เขารู้จักก่อนที่จะก้าวเท้าเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ป่วย เขาบอกว่าวันที่เดินทางมาที่นี่ มีสมาชิกในครอบครัวมาส่ง 5 คน ก่อนกลับไปทุกคนบอกเขาว่า "ทำให้ได้นะ"

ส่วนแอสตริทนั้น รู้จักชื่อวัดถ้ำกระบอกจากเพื่อนคนหนึ่ง และรู้ว่าการมาที่นี่หมายถึงเขาต้องกินยาเพื่ออาเจียนเช่นกัน "หลังจากอาเจียนติดกันมา 5 วัน รู้สึกว่าร่างกายเริ่มปรับสมดุลกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง" ในวันที่ทีมงานได้พบกับแอสตริท นับเป็นวันที่ 6 ของเขา แอสตริทบอกว่าได้ใช้เวลา 5 วันที่ผ่านมาตัดขาดจากโลกภายนอกและค้นหาตัวเอง วันนี้เป็นวันแรกที่เขาจะได้ดื่มน้ำอัดลมและโทรกลับบ้าน

"จากที่ไม่ได้คุยกันมา 6-7 วัน ผมจะบอกแม่ว่า ที่นี่วิเศษมาก และหวังว่าจะได้ลูกชายคนใหม่กลับบ้าน ลูกชายที่เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นลูกชายที่คิดแง่บวกและทิ้งพฤติกรรมแย่ ๆ ไว้เบื้องหลัง"

เลิกได้เพราะ สมุนไพร หรือ สัจจะ

พระอาจารย์วิจิตร อัครจิตโต รองเจ้าอาวาสวัดถ้ำกระบอก และรองผู้จัดการสถานพักฟื้นถ้ำกระบอก บอกกับบีบีซีไทยว่าการใช้ยาสมุนไพรเป็นเพียงพิธีการ หัวใจของการรักษาที่แท้จริงคือการมีสัจจะ

Image copyright BBC Thai
คำบรรยายภาพ พระอาจารย์วิจิตรดูแลผู้ป่วยที่วัดถ้ำกระบอกมากว่า 40 ปี

"ยาสมุนไพรที่เรารักษายาเสพติด เราให้ความสำคัญเพียง 20% อีก 80% คือความตั้งใจของผู้ป่วยที่จะหายได้" พระอาจารย์วิจิตรยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยบางประเภทที่ไม่สามารถกินยาสมุนไพรได้ เช่น ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดท้อง หญิงตั้งครรภ์อ่อน ๆ แต่พวกเขาสามารถเลิกยาเสพติดได้มีความพร้อมในการตั้งใจเปลี่ยนตัวเอง

อย่างไรก็ตาม พระอาจารย์วิจิตรบอกว่า ทางวัดไม่มีการเก็บสถิติผู้ที่เลิกยาสำเร็จ เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการติดตามผู้ป่วยที่ออกไปแล้ว และกล่าวย้ำว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการมารักษาที่ถ้ำกระบอก แต่เป็นการเปลี่ยนทัศนคติในการใช้ชีวิตหลังจากนั้น

"เขาคิดว่าการเลิกยาเสพติดก็เหมือนการเข้าโรงพยาบาลแล้วก็หาย ไม่ใช่นะ มันเป็นความทรงจำมันติดอยู่กับความรู้สึก ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือกลับไปบ้านเนี่ยมันต้องเปลี่ยนมุมมอง ทำชีวิตให้มีความสุขให้สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้ยาเสพติด"

วัดถ้ำกระบอกกับยาเสพติดในโลกปัจจุบัน

การคมนาคมที่ทันสมัยหลากหลายรูปแบบทำให้การลักลอบขนยาเสพติดแพร่หลายไปทั่วโลก ประกอบกับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันทำให้การซื้อขายยาเสพติดบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องง่าย

จากรายงาน World Drug Report 2019 ของ UNODC พบว่า ในปี ค.ศ. 2017 มีผู้ใช้ยาเสพติดทั่วโลกประมาณ 271 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรโลก ยาเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุด คือ กัญชา 188 ล้านคน รองลงมาคือ ฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่น 53 ล้านคน กลุ่มแอมเฟตามีน 29 ล้านคน เอ็กซ์ตาซี 21 ล้านคน และโคเคน 18 ล้านคน ยาเสพติดประเภทสารสังเคราะห์ในกลุ่มแอมเฟตามีน โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดเมทแอมเฟตามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจุบัน เมทแอมเฟตามีน หรือยาไอซ์ กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น และสถานบริการยามค่ำคืน และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้นในภูมิภาค นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติดที่มาจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อลำเลียงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

เมื่อรูปแบบของยาเสพติดเปลี่ยนไป ผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่วัดถ้ำกระบอกก็เปลี่ยนรูปแบบไปเช่นกันโดยเป็นเยาวชนทั้งหญิงชาย ต่างจากในสมัยก่อนที่มักเป็นผู้สูงวัยที่ติดฝิ่นและเฮโรอีน

Image copyright BBC Thai
คำบรรยายภาพ วัดถ้ำกระบอกใช้ยาสมุนไพรตัวเดิมมาตลอด 6 ทศวรรษ

ข้อมูลสถิติจากวัดถ้ำกระบอกชี้ว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่มาที่วัดเสพติดยาบ้ามากเป็นอันดับ 1 แต่ละปีมีผู้ป่วยมารับการรักษาเฉลี่ยปีละกว่า 1 พันคน โดยมีผู้ป่วยชาวต่างประเทศราว 10-15% ซึ่งโดยมากเป็นชาวยุโรป

พระอาจารย์วิจิตรบอกว่า ไม่ว่ายาเสพติดจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร วัดถ้ำกระบอกใช้ยาสมุนไพรตัวเดิมในการรักษามาโดยตลอด และสูตรยาถูกเก็บเป็นความลับเพื่อป้องกันการหาประโยชน์ทางธุรกิจ

"คนเหล่านี้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องเปลี่ยนนิสัยเท่านั้น จะยาวิเศษแค่ไหน ถ้าเขาไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็เลิกไม่ได้ ยาเป็นสิ่งสมมติ"

ธรรมะชนะทุกสิ่ง

หลังการบำบัดครบ 15 วัน ผู้ป่วยบางคนอาจยังไม่พร้อมกลับออกไปใช้ชีวิตตามปกติที่ต้องเผชิญกับสิ่งยั่วยุ ซึ่งอาจทำให้กลับไปเสพยาอีก ซึ่งทางวัดยินดีให้อยู่ต่อจนกว่าผู้ป่วยรู้สึกพร้อม หรือบางในกรณี ผู้ป่วยก็พบแสงสว่างในชีวิตและเลือกที่จะบวชเพื่อขัดเกลาจิตใจ

ลุค บาร์กเกอร์ ชายชาวออสเตรเลีย วัย 37 ปี คือหนึ่งในนั้น เขาเดินทางมาเลิกยาที่วัดถ้ำกระบอกเมื่อ 4 ปีก่อน โดยเขาเสพติดยาไอซ์มาราว 17 ปี ก่อนจะพบข้อมูลเกี่ยวกับวัดถ้ำกระบอกทางอินเตอร์เน็ต และตัดสินใจมาเลิกยาที่นี่ ในวันนี้ เขากลับมาที่วัดถ้ำกระบอกอีกครั้งเพื่อขอบวชเป็นเวลาราว 1 ปี โดยในครั้งนี้เขาให้สัจจะที่จะเลิกสูบบุหรี่ด้วย

Image copyright BBC Thai
คำบรรยายภาพ ลุคกลับมาวัดถ้ำกระบอกอีกครั้งเพื่อมาบวชพระ หลังมาเลิกยาที่นี่เมื่อ 4 ปีก่อน

"ก่อนนี้ผมไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็มีความสนใจเกี่ยวกับคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง...สัจจะ สำหรับผมมันคือพลังแห่งความเชื่อ เป็นผู้นำทางของเรา เมื่อเราให้คำมั่นว่าทำหรือไม่ทำสิ่งใดแล้ว เราก็ต้องยึดมันไว้"

เขาบอกว่าแม้ในออสเตรเลียมีวัดไทยหลายวัด แต่เขาเลือกกลับมาที่นี่เพราะเคยมีประสบการณ์ที่ดี

"ผมคิดว่าผมกำลังอยู่ระหว่างการค้นพบตัวเอง แต่การค้นพบตัวเองก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก เพราะคนเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวเราในวันนี้อาจไม่เหมือนตัวเราใน 6 เดือนข้างหน้าก็ได้" เขากล่าวไว้เมื่อเดือน ก.พ. ก่อนกำหนดอุปสมบทในเดือน มี.ค.


ฝิ่นกับสังคมไทย

ฝิ่นนับได้ว่าเป็นยาเสพติดที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน เดิมทีเชื่อว่าเป็นยาช่วยบรรเทาหรือระงับความเจ็บปวด แต่การใช้ฝิ่นมากเกินความจำเป็นนำไปสู่การติดฝิ่น ซึ่งส่งผลทำลายประสาท และในบางกรณีก็เสียชีวิตด้วย

การปราบปรามฝิ่นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของทางการไทย มีประวัติการห้ามสูบฝิ่นย้อนไปถึงสมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นับเป็นช่วงที่มีการระบาดของฝิ่นมากที่สุดยุคหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการควบคุมฝิ่นอย่างเข้มงวด ในปี 2382 ทรงโปรดเกล้าให้จ้างโรงพิมพ์ของมิชชันนารี A.B.C.F.M. โดยหมอบรัดเลย์ พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น 9,000 ฉบับ ออกเผยแพร่ให้แก่ราษฎร ซึ่งนับเป็นเอกสารทางราชการไทยฉบับแรกที่มีการจัดพิมพ์ขึ้น

อย่างไรก็ตาม การค้าฝิ่นกลับสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลไทยอย่างมาก จึงเป็นการยากที่จะห้ามคนไทยค้าหรือเสพฝิ่น ส่งผลให้การเสพฝิ่นมีอยู่เรื่อยมาจนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ฝิ่นจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ. ศ. 2522 และถือเป็นต้นตอของยาเสพติดร้ายแรงหลายประเภท ทั้งมอร์ฟีน เฮโรอีน และโคเดอีน รายงานการสำรวจและทำลายฝิ่นประจำปีฉบับล่าสุด (ปี 2560-2661) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันแลพปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ระบุว่าพื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงต่ำสุดเท่าที่เคยดำเนินการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2522 โดยมีพื้นที่ปลูกฝิ่นลดลง 1,291.60 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 68.52 และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย ๆ

แม้ข้อมูลดังกล่าวจะส่งสัญญาณที่ดี แต่ปัจจุบันยาเสพติดที่แพร่หลายในประเทศไทย ขยายเป็นวงกว้างนอกเหนือไปจากยาเสพติดที่ผลิตจากฝิ่นเหมือนในอดีต และสามารถหาซื้อได้ง่ายกว่าเดิมด้วย


50 ปี แห่งการเผายาเสพติด

ทุกวันที่ 26 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก กระทรวงสาธารณสุขจัดพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ซึ่งปีนี้จะเป็นปีที่ 50 โดยในปี 2562 ได้เผาทำลายยาเสพติดเป็นจำนวน 16,467 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 20,047 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีน ยาเสพติดที่ได้เป็นของกลางที่เจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ส.

ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสยาเสพติดได้ที่ โทร. 1386 สายด่วน ป.ป.ส.

หากพบเห็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงในสังคม สามารถแจ้ง โทร. 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง




June 25, 2020 at 05:35PM
https://ift.tt/2BzKMye

วันต่อต้านยาเสพติดโลก : เยือนวัดถ้ำกระบอก กับ “สัจจะ”และสมุนไพร ที่ใช้บำบัดผู้ติดยามา 6 ทศวรรษ - บีบีซีไทย

https://ift.tt/37ceLI4


Bagikan Berita Ini

0 Response to "วันต่อต้านยาเสพติดโลก : เยือนวัดถ้ำกระบอก กับ “สัจจะ”และสมุนไพร ที่ใช้บำบัดผู้ติดยามา 6 ทศวรรษ - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Blogger news

Powered by Blogger.