Search

“เวศ จันทะสระ” กับ “พืชร่วมยาง” สร้างเศรษฐกิจมั่นคง ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ลืมสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง - ผู้จัดการออนไลน์

herb-dokterethaliani.blogspot.com

เรื่อง : ขวัญฤทัย ปานนุ้ย / รูป : โตมร อภิวันทนากร


เพราะ “ธรรมชาติ” คือทุกอย่าง จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะรักษาธรรมชาติไว้ให้อยู่กับตนเองและชุมชน ไม่ว่าจะในบทบาทไหน ครู เกษตรกร หรือ นักพัฒนา ก็ทำอย่างเต็มที่ด้วยใจรัก

“เวศ จันทะสระ” มีประสบการณ์การเป็นครูมา 40 ปี ปัจจุบันย่างเข้าปีที่ 2 ของการเกษียณอายุราชการ อยู่ที่บ้านจุ้มปะ ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ด้วยความชอบและภูมิใจในวิถีชีวิตเกษตรกรมาตั้งแต่วัยเด็ก ถึงแม้จะเป็นครูแล้วก็ยังใช้เวลาหลังเสร็จงานสอนที่โรงเรียนมาทุ่มเทให้กับงานเกษตร ทำมาหลายอย่างทั้งทำนา ปลูกอ้อย เลี้ยงเป็ด ทำสวนยางพารา

พบว่าต้นตอสำคัญของ ปัญหาการเกษตร มาจากการที่เกษตรกรขาด ข้อมูลความรู้ทางการเกษตร ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ทำการเกษตรแบบตามๆ กัน เน้นพืชทางเศรษฐกิจเพื่อรายได้ที่ดี โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพพื้นที่กับพันธุ์พืชที่ปลูก การดูแลที่ถูกวิธี และไม่เท่าทันการตลาดในยุคปัจจุบัน เกษตรกรจึงต้องเผชิญกับปัญหาเหนือการควบคุม ทั้งความไม่แน่นอนของผลผลิต ความผันผวนของราคา สินค้าล้นตลาด หรือความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ จึงไม่สามารถอยู่รอดได้ในอาชีพเกษตรกร

“เวศ จันทะสระ” พยายามศึกษาหาความรู้ทางการเกษตรเพิ่มเติมอยู่เสมอ จนได้นำองค์ความรู้ในการ ปลูกพืชร่วมยาง มาพัฒนาการทำสวนยางพาราของตนเอง จนสร้างรายได้และความมั่นคงให้แก่อาชีพเกษตรกร ภายใต้อุดมการณ์ในการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการทำงานด้านชุมชนมานานในประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติใน พื้นที่ลุ่มแม่น้ำภูมี เป็น นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา มีภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกันหลายกลุ่ม

ซึ่งได้เห็นความสำคัญของ การสร้างการเรียนรู้ ที่จะสามารถ พัฒนาคุณภาพชีวิต ให้กับเกษตรกรในชุมชน จึงเชื่อมโยงเครือข่ายภายนอกชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนมาส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางการเกษตรให้กับเกษตรกรในชุมชน พัฒนาทักษะทางการเกษตร ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำสวนยางพารา สร้างการพึ่งพาตนเองพึ่งพาทรัพยากรชุมชนอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เกิดเป็น องค์ความรู้ใหม่ ร่วมกันของชุมชนและพัฒนาขยายผลไปยังชุมชนอื่น


พื้นที่เปลี่ยนแปลง วิถีการเกษตรเปลี่ยนไป

สายน้ำภูมีระยะทาง 63 กิโลเมตรจากเทือกเขาบรรทัด มีคลองแยก 30 กว่าสายผ่านหลายตำบลคือ พื้นที่ลุ่มน้ำทางการเกษตร ที่สำคัญของ อ.รัตภูมิ คนในชุมชนที่นี่แทบทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกร ชุมชนลุ่มน้ำภูมีในอดีตมีระบบนิเวศที่ดีมาก แต่เมื่อความเจริญเข้ามามีกลุ่มทุนเข้ามาวิถีเดิมๆ ที่มีก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป เกษตรกรเปลี่ยนมาทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลง ทุ่งนาก็กลับไปทำนาไม่ได้แล้ว

เกษตรกร ขาดความรู้เชิงพื้นที่ ไม่รู้ว่าพืชชนิดไหนควรปลูกบนพื้นที่แบบไหน ทำตามๆ กัน จึงประสบความล้มเหลว ก่อนหน้านี้เกษตรกรปลูกยางพาราโดยอาศัยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นป่ายางมีต้นทุนการผลิตน้อย ต่อมามีโครงการเข้ามาสนับสนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนรูปแบบมาทำ การเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกยางอย่างเดียว สภาพความเป็นป่าจึงหมดไป ต้องพึ่งพาสารเคมีทางการเกษตร มีการจ้างกรีดยาง ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว โดยกว่าที่ต้นยางจะสามารถให้น้ำยางได้ราว 6-7 ปี ในระหว่างรอกรีดเกษตรก็ไม่มีรายได้เลย และเมื่อเกิดวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ทำให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น เกษตรกรรายย่อยมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เกิดปัญหาขาดทุน ปัญหาหนี้สินก็ตามมา ทุกอย่างจบอยู่ไม่ได้


สวนยางยั่งยืน ด้วยพืชร่วมยาง

วิกฤตทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจึงนำมาสู่การร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการจัดทำ “โครงการสวนยางยั่งยืน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชนลุ่มน้ำภูมี” เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรสวนยางพาราหันมาปลูก “พืชร่วมยาง” โดยมีการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่อื่นๆ มีการอบรมให้ความรู้เกษตรกรเรื่องพันธุ์พืชที่เหมาะกับแต่ละบริบทพื้นที่ และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก

เมื่อยางพาราอายุได้ 3 ปีก็สามารถปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ขิง ข่า พริก ตะไคร้ กล้วย สมุนไพร กระพ้อ ไว้ใช้ไว้กินได้ไม่ต้องซื้อ หลังจากนั้นอีก 1 ปีเป็นต้นไปก็สามารถลงไม้ยืนต้น เช่น ตะเคียน พะยอม สะเดาเทียม มะฮอกกานี ไผ่ หลุมพอ และผลไม้ต่างๆ โดยเป็นการปลูกแซมกับต้นยางพารา ซึ่งจะมีระยะปลูกในแต่ละแปลงที่ไม่เหมือนกัน อาจจะปลูกระหว่างแถวหรือปลูกสลับกันก็ได้

ขณะนี้มีแปลงต้นแบบนำร่องจำนวน 10 แปลง ได้มีการ ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการพัฒนาขยายผลไปสู่เกษตรกรสวนยางพารารายอื่นในชุมชน ซึ่งตอนนี้มีเกษตรกรให้ความสนใจหันมาทำกันมากขึ้น โดยมีตัวแทนจากแต่ละตำบลมาเข้าร่วมประมาณ 60 ครัวเรือน วางแผนจะขับเคลื่อนพัฒนาขยายเครือข่ายต่อไป เป้าหมายคือ ให้ชุมชนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในการปลูกพืชร่วมยางได้


หลุดพ้นวิกฤต ฟื้นระบบนิเวศ สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน

เมื่อก่อนโครงการห้ามปลูกพืชอย่างอื่น นอกจากยางพาราเท่านั้น ทุกวันนี้มีหลายองค์กร หลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนชุมชน เกษตรกรในทุกพื้นที่ก็สนใจที่จะทำกันหมด เพราะการปลูก “พืชร่วมยาง” ได้ประโยชน์หลายอย่าง ทำให้ สวนยางมีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีพืชผักไว้เป็นอาหาร มีไม้ไว้ใช้ประโยชน์และขาย มีรายได้เสริมจากการปลูกพืชร่วมยาง ลดต้นทุนการทำสวนยาง เพราะไม่ต้องดูแลเยอะ ไม่ต้องใช้สารเคมีทางการเกษตร

เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง กำหนดชีวิตตนเองได้ หลุดพ้นจากเงื่อนไขทางทุนนิยม พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ฟื้นเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น ต้นไม้ที่ปลูกไว้จะเป็นอนาคตของลูกหลานในการสร้างที่อยู่อาศัย เมื่อราคาไม้สูงขึ้นก็สามารถขายได้ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน สร้างความมั่นคงให้กับลูกหลาน

การปลูกพืชร่วมยางยังเป็นการ ฟื้นระบบนิเวศกลับคืนมา สัตว์ต่างๆ ได้เข้ามาพึ่งพาอาศัย มีพืชที่งอกขึ้นเองหลากหลายชนิด กลายเป็นวนเกษตรไปในตัว เมื่อก่อนสวนยางเตียนโล่งมองว่าสวยสบายใจ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ตอนนี้ทุกคนกลับมาเห็นคุณค่าของป่า เมื่อเกิดพายุต้นยางก็ไม่ล้ม เพราะรากต้นไม้อื่นช่วยพยุงกันไว้ไม่ให้ล้ม และมีประโยชน์ทางด้านจิตใจ ได้เห็นต้นไม้เกิดความสบายใจ

นอกจากนี้ยังทำให้เกิด ปราชญ์ชุมชน ขึ้นมาให้ความรู้เรื่องสมุนไพร ปุ๋ย น้ำผึ้ง ธรรมชาติเชื่อมโยงได้ทุกเรื่อง อาศัยไม้ร่วมยางสามารถอยู่ได้สบาย จัดการพื้นที่ของเราปลูกสิ่งที่เราต้องการกินและใช้ประโยชน์ในครัวเรือนก็อยู่ได้แล้ว ไม่ถึงกับร่ำรวย แต่มีอาหารกิน นี่คือเรื่องพื้นฐานของคนเรา มองเห็นทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตบนความยั่งยืน

ภาพจากเพจเขาคูหา รัตตภูมิ สงขลา https://www.facebook.com/pg/kowkuha/posts/
ธรรมชาติ คือความสุข

ทุกวันนี้เรียกว่าสำเร็จในระดับหนึ่ง พอที่จะคุยกับเพื่อนได้ มีคนทั่วไปและนักเรียนนักศึกษา มาทำกิจกรรมที่นี่เกือบทุกสัปดาห์ พบว่าสุดท้ายแล้วการได้อยู่กับธรรมชาติดีทุกอย่าง จะดูแลรักษาป่าภูเขาแม่น้ำต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ชอบ อยากให้มีอยู่คู่กับทุกชุมชน

ทุกวันนี้สุขภาพดีขึ้น สบายใจ ได้เข้าสวน ได้เห็นการเติบโตของต้นไม้ มองเห็นอนาคตทุกวัน ต่อไปวันข้างหน้าจะได้เห็นต้นไม้ที่เราปลูกไว้เจริญเติบโตขึ้นมาก ไม่ใช่แค่สวนเรา แต่คือสวนของทุกคนในเครือข่ายรวมกัน เกิดเป็นสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สวยงาม สิ่งที่เราเริ่มต้นทำในวันนี้ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ให้กับลูกหลาน ชุมชนและประเทศ ภูมิใจที่เราทำมาถูกทางแล้ว สิ่งนี้คือความสุขของเรา

การเกษตรในรูปแบบดั่งเดิม เน้นการพึ่งพาวิถีทางธรรมชาติ ใช้ต้นทุนจากทรัพยากรที่มีอยู่ ผลิตเพื่ออยู่ เพื่อกิน เมื่อความเจริญเข้ามาทำให้เกษตรกรรมเปลี่ยนแปลงไป เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้น จึงต้องเพิ่มผลผลิตให้มีมากขึ้น ด้วยการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง ซึ่งได้สร้างความเสียหายไว้ให้กับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ทำให้ในปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างหันมามีส่วนร่วมในการ พัฒนาภาคเกษตรกรรมในรูปแบบที่ยั่งยืน มากขึ้น จัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จัดการกระบวนการผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด

อย่างที่ “เวศ จันทะสระ” ได้นำมาเป็นแนวทางในการทำการเกษตรในชุมชนบ้านจุ้มปะ ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรสวนยางพารา โดยใช้องค์ความรู้ในการ “ปลูกพืชร่วมยาง” เป็นวิธีการทำสวนยางพาราโดยไม่เน้นเพียงเรื่องของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วย การเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชทางการเกษตรกับพืชชนิดอื่นร่วมด้วย ทั้งไม้ยืนต้น พืชล้มลุก ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในสวนยางพารา ซึ่งช่วยให้น้ำยางมีปริมาณและเปอร์เซ็นต์ยางเพิ่มมากขึ้น สามารถผลิตน้ำยางคุณภาพดีได้โดยไม่ใช้สารเคมี เป็นการดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างสมดุลในระบบนิเวศตามวิถีธรรมชาติ ทั้งคน พืชและสัตว์ ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืน ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้ ความมั่นคง ฟื้นชีวิตที่เป็นสุขให้เกษตรกร ฟื้นสิ่งแวดล้อมที่ดีคืนสู่ชุมชน

เศรษฐกิจเติบโตประเทศเจริญก้าวหน้า โดยจะละเลยมองข้ามเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้ การพัฒนาที่ถูกให้การยอมรับในโลกยุคปัจจุบัน ต้องสร้างความความยั่งยืนร่วมกัน ในทุกระดับ ทุกมิติของการพัฒนา มีสังคมที่เป็นสุขด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

ภาพจากเพจเขาคูหา รัตตภูมิ สงขลา https://www.facebook.com/pg/kowkuha/posts/

หมายเหตุ : ติดตาม 10 พลเมืองสงขลา จากยุทธศาสตร์สู่ปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคมเป็นสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ได้ที่ https://www.facebook.com/SongkhlaFlagshipNode/




June 22, 2020 at 05:33PM
https://ift.tt/2zQOoLE

“เวศ จันทะสระ” กับ “พืชร่วมยาง” สร้างเศรษฐกิจมั่นคง ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ลืมสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/2MI7832


Bagikan Berita Ini

0 Response to "“เวศ จันทะสระ” กับ “พืชร่วมยาง” สร้างเศรษฐกิจมั่นคง ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ลืมสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Blogger news

Powered by Blogger.