ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดูเหมือนเป้าหมายของการยกร่างประกาศฯ กำหนด “พืชสมุนไพร 13 ชนิด” ให้มาเป็น “บัญชีวัตถุอันตราย (วอ.1 )” จากเดิมที่เป็น “บัญชีวัตถุอันตราย (วอ.2)” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยข้ออ้างสนับสนุนทางเลือกให้เกษตรกรใช้สารสกัดชีวภัณฑ์ทดแทน สารเคมีอันตรายที่ประกาศแบนไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 สร้างความฉงนสงสัยให้กับสังคมอยู่ไม่น้อยว่า “เป้าหมาย” ที่แท้จริงคืออะไร ดีหรือไม่ดี อย่างไร
กล่าวสำหรับ สมุนไพร 13 ชนิด ประกอบด้วย สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก ซึ่งเดิมถูกขึ้นทะเบียนใน “บัญชีวัตถุอันตราย (วอ. 2 )” ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2556 ล่าสุด กระทรวงเกษตรฯ เตรียมยกร่างประกาศฯ กำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด ให้มาเป็น “บัญชีวัตถุอันตราย (วอ. 1 )” โดยยกเหตุผลว่าเป็นการสนับสนุนทางเลือกให้เกษตรกรใช้ทดแทนสารเคมีอันตราย ที่เพิ่งประกาศแบนไป
สำหรับความแตกต่างระหว่าง “วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.)” และ “วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ. 2)” ประการแรก วอ.1 มีความเป็นอันตรายหรือความเป็นพิษน้อยกว่า วอ. 2 ประการต่อมา ขั้นตอนการควบคุมแตกต่างกัน กรณีของ วอ.2 ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ครอบครองที่จะมีไว้ใช้ จะต้องทำการขึ้นทะเบียน และแจ้งการดำเนินงานกับกรมวิชาการเกษตร ส่วน วอ.1 ไม่ต้องขึ้นทะเบียน เพียงแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารหรือพืชนั้นๆ
นัยของ วอ.1 เป็นใบเปิดทางสกัดชีวภัณฑ์ทางการค้า ซึ่งข้อสำคัญของการสกัดชีวภัณฑ์สำหรับฆ่าหญ้าฆ่าแมลงมักเติมสารเคมีผสมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดี ทั้งที่ชีวภัณฑ์แท้จะต้องไม่มีสารเคมีใดๆ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเป็นจาก วอ.2 เป็น วอ.1 จะลดขั้นตอนยุ่งยาก ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ไม่ต้องตรวจสอบ
ข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวในแวดวงเกษตร เปิดเผยผ่านสื่อฯ ว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ได้กำหนดให้สมุนไพรอยู่ในประเภท วอ.2 แต่เป็นส่วนของการสกัดสารชีวภัณฑ์สมุนไพรทั้ง13 ชนิด สำหรับป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สกัดเชิงการค้า ต้องขึ้นทะเบียน วอ.2 เป็นการควบคุมว่าสารที่สกัดหรือมีการผสมสารตัวอื่นนั้นปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมาไม่มีข้อห้ามเกตรกรหรือประชาชนสกัดใช้เอง หากต้องการนำสมุนไพรซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาสกัดย่อมทำได้อยู่แล้ว แต่หากเป็นการสกัดในเชิงการค้า ต้องขึ้นทะเบียน ต้องขึ้นทะเบียน วอ. 2 เพื่อควบคุม
นอกจากนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน เปิดเผยว่าชีวภัณฑ์แทบทุกยี่ห้อที่วางขายในท้องเป็นผลิตที่ไม่มีทะเบียนและผสมสารเคมีอันตราย วางขายกันโจ่งครึ้ม ไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกรมวิชาการเกษตร เข้ามากำกับดูแล สร้างมาตรฐานสารชีวภัณฑ์
กล่าวสำหรับความเป็นมาของรายชื่อ 13 พืชสมุนไพรไทย” ที่เข้าไปอยู่ในบัญชี “วัตถุอันตราย” ย้อนกลับไปตั้งแต่มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2538 ให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ สมุนไพร 13 ชนิด สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ.2)
ต่อมา กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2552 ให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ฯลฯ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.1) ขณะที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวร้องเรียนให้กระทรวงอุตสาหกรรม ยกเลิกโดยถอดพืชสมุนไพรข้างต้นออกจาก วอ.1 ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้ยกเลิกประกาศเดิม ที่กำหนดให้สารสกัดจากพืชเป็น วอ.
ทว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2556 ให้สารสกัดจากพืช สมุนไพร 13 ชนิด เพื่อประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช กลับไปเป็น วอ.2
ล่าสุดต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมยกร่างประกาศกำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด ให้กลับมาเป็น วอ.1 จากที่ถูกกำหนดไว้อยู่ในบัญชี วอ.2 เป็นการสนับสนุนทางเลือกให้เกษตรกรใช้ทดแทนสารเคมีอันตราย “พาราควอต - คลอร์ไพริฟอส” ที่ประกาศแบนไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563
อนึ่ง การขึ้นทะเบียนมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องนำผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากพืช สมุนไพร 13 ชนิด เพื่อประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ไปวิเคราะห์ข้อมูลทดสอบความเป็นพิษ เพื่อให้ทราบว่าจะใช้อัตราที่เท่าไหร่ถึงจะมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
การที่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมยกร่างประกาศกำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด ให้กลับมาเป็น วอ.1 แทน วอ.2 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการนำสมุนไพรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืช ลดขั้นตอนยุ่งยากทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม คำถามที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันก็คือ จะเป็นใบเบิกทางทางสกัดชีวภัณฑ์ทางการค้า โดยไม่ต้อง “ไม่ต้องตรวจสอบ” หากมีการเติมสารเคมีเพิ่มประสิทธิภาพในชีวภัณฑ์ฆ่าหญ้าฆ่าแมลงลง หรือไม่อย่างไร เพราะในเวลานี้มีผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์เถื่อนผสมสารพิษเกลื่อนตลาด
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตัวพืชสมุนไพรไทยมีประโยชน์ แต่ตัวเป็นปัญหาคือสารสกัดที่นำมาใช้ในการสกัด บางพืชทางการเแพทย์ยังเห็นว่าอันตราย สำหรับการปรับแก้เป็น วอ.1 และ วอ.2 ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการสลับกันไปมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 เนื่องมาจากพบว่าบางครั้ง เกษตรกร หรือเอกชน ใช้สารอันตรายมาสกัด เมื่อตรวจพบจำเป็นต้องมากลับมาคุมเข้ม
“การขึ้นทะเบียนจะมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นพิษของสารนั้น ต้องนำสารนั้นไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้เพื่อให้ทราบว่าจะใช้อัตราที่เท่าไหร่ถึงจะมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริง นอกจากนั้นจะต้องทำการประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยของคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรได้นำสารธรรมชาติ หรือพืชที่อยู่ตามธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืช กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่าควรปลดล็อคพืชสมุนไพร 13 ชนิด จากวัตุอันตรายชนิดที่ 2 กลับมาเป็นวัตุอันตรายชนิดที่ 1” น.ส.อิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนของกรมวิชาการเกษตร แยกสารธรรมชาติออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ สารสกัดธรรมชาติจากพืชได้จากการสกัดจริง และสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด ซึ่งไม่สามารถทำการปลดล็อกสารธรรมชาติจากการสกัดออกเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้ เนื่องจากเมื่อทำการสกัดแล้วจะได้สารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ในการกำจัดศัตรูพืช เพียว 100% ใช้เพียงนิดเดียวก็มีความเป็นพิษ และมีความเป็นพิษมาก
แต่ถ้าเป็นสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด เช่น การนำไปตากแห้ง บ่ม สับ แล้วนำมาใช้เลย ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ไม่ต้องแจ้งว่ามีสารสำคัญในปริมาณเท่าไหร่ หรือใช้ในอัตราเท่าไหร่ ก็จะสะดวกกับเกษตรกรที่จะนำไปใช้หรือนำไปผลิตเพื่อจำหน่าย
กระทรวงเกษตรฯ ให้เหตุผลว่าการผลักดันให้เป็น วอ.1 ในครั้งนี้ เป็นการหนุนภูมิปัญญาชาวบ้านในการสกัดชีวภัณฑ์ใช้ผลิตเป็นยากำจัดแมลงและวัชพืชได้ใช้ในครัวเรือน หนุนสินค้าอินทรีย์ของไทยและตลาดส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ
แต่ไม่สามารถล้างบัญชี “สมุนไพร 13 บัญชี” ออกจากทะเบียน “วัตถุอันตราย” โดยกรมวิชาการเกษตร ให้เหตุผลถึงข้อกังวลเรื่องสารปนเปื้อน ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
July 18, 2020 at 06:01AM
https://ift.tt/3jhgzoP
“13 พืชสมุนไพร” ค้างหิ้ง “วัตถุอันตราย” ใครได้ใครเสีย - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/2MI7832
Bagikan Berita Ini
0 Response to "“13 พืชสมุนไพร” ค้างหิ้ง “วัตถุอันตราย” ใครได้ใครเสีย - ผู้จัดการออนไลน์"
Post a Comment