แปลงใหญ่พืชสมุนไพร ผลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สร้างรายได้และผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร
สมุนไพร พืชพันธุ์แห่งภูมิปัญญาที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ในวันนี้ถือเป็นพืชดาวเด่นที่ต้องจับตามองอีกหนึ่งชนิด ด้วยมีมูลค่าทางการตลาดในประเทศที่สูงถึง 180,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าทางการตลาดทั่วโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวที่เพิ่มขึ้นทุกปี
นั่นเป็นเพราะสมุนไพร คือ วัตถุดิบสำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งในด้านการผลิตยารักษาโรค เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร“ปัจจุบันตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรประเภทต่างๆ เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้สมุนไพรหลายชนิดเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทะลายโจร ขิง ขมิ้นชัน เป็นต้น”
“ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างรายได้และผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการพัฒนาการผลิตสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน มีการต่อยอดยาจากสมุนไพรให้สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน”นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้มุมมองด้านตลาด
ก้าวแห่งการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการปลูกสมุนไพรที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการ คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็น “แปลงใหญ่พืชสมุนไพร”ตามแนวทาง “โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่”ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันได้เกิดการรวมกลุ่มผลิตสมุนไพรในรูปแบบแปลงใหญ่แล้วจำนวน 16 แปลง ใน 15 จังหวัด จำนวนเกษตรกร 701 ราย พื้นที่รวม7,706.75 ไร่ โดยเน้นส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง หรือที่เรียกว่า Product Champions 4 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ, ไพล, บัวบก และ ขมิ้นชัน
นายเข้มแข็งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรใน5 ด้านที่สำคัญของระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ประกอบด้วยหนึ่ง ด้านการลดต้นทุนการผลิตสอง ด้านการเพิ่มผลผลิตสาม ด้านการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐาน GAP สี่ ด้านการตลาดและ ห้า ด้านการบริหารจัดการ
“เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่พืชสมุนไพร จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบครบวงจร ภายใต้หลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการและความต้องการของเกษตรกรเช่น การผลิตสมุนไพรคุณภาพ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอและมีคุณภาพตรงความต้องการของตลาดโดยเน้นเรื่อง การจัดการแปลงการจัดทำแผนการผลิตการวิเคราะห์พื้นที่ปลูกการตรวจวิเคราะห์ดินและน้ำการใช้ต้นพันธุ์ดีการดูแลรักษาการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวรวมถึงเพิ่มมูลค่าของผลผลิต”
“ ขณะที่ด้านบริหารจัดการตลาดและการเชื่อมโยงจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวางแผนการผลิตการแปรรูปการเพิ่มมูลค่าการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตช่วยให้กำหนดแผนการผลิตและการตลาดสามารถจำหน่ายวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ต่อเนื่องและต่อยอดไปสู่การขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์โดยเฉพาะผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร”นายเข้มแข็งกล่าว
ด้วยการทำงานอย่างทุ่มเทและต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ในทุกภาคส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร จึงทำให้เกษตรแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ได้ปรากฏผลแห่งความสำเร็จ นำมาซึ่งผลประโยชน์ และความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ดั่งเช่นที่ แปลงใหญ่พืชสมุนไพร หมู่ 4 ตำบลโคกจาน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
ปัจจุบันมีสมาชิก 36คน พื้นที่ปลูกสมุนไพรรวม 80 ไร่ ชนิดพืชสมุนไพรที่ปลูกมากกว่า 20 ชนิด เช่น ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้บ้าน ตะไคร้หอม รางจืด พญายอ เตยหอม เป็นต้นจำหน่ายสมุนไพรทั้งแบบสดและแบบแห้ง สามารถสร้างรายได้รวมต่อปีประมาณ 150,000 - 200,000 บาท
แปลงใหญ่พืชสมุนไพร หมู่ 4 ตำบลโคกจานเกิดขึ้นสืบเนื่องจากส่วนงานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลตระการพืชผล มีความต้องการสมุนไพรอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตยารักษาผู้ป่วยจึงนำมาสู่การพัฒนาและรวมตัวของเกษตรกรในรูปวิสาหกิจชุมชน และต่อมาได้สมัครเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกรมส่งเสริมการเกษตร
“ ทุกวันนี้ บอกได้แค่ว่า ผลผลิตสมุนไพรที่เกษตรแปลงใหญ่เราปลูกได้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการลูกค้า โดยผลผลิตสดร้อยละ 90 หรือประมาณ 5,600 กิโลกรัมส่งให้กับโรงพยาบาลตระการพืชผลเป็นหลัก เพื่อแปรรูปเป็นยาแผนไทย ภายใต้ตราสินค้า "ศุโขโอสถ" ซึ่งโรงพยาบาลจะเป็นผู้กำหนดออร์เดอร์ของสมุนไพรแต่ละตัวที่ต้องการใช้ เช่น ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม รางจืด เพชรสังฆาต กระชายดำ ฯลฯ ที่เหลือจะจำหน่ายเป็นผลผลิตสดและวัตถุดิบแห้งจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการทั้งในและนอกจังหวัด โดยแบ่งคุณภาพเป็น 3 เกรด ราคาจำหน่ายตามคุณภาพ”
นายราเชนทร์ ทาวะรมย์ ผู้ประสานงานแปลงใหญ่พืชสมุนไพร หมู่ 4 ตำบลโคกจานกล่าวถึงการบริหารและการจัดการผลิตของกลุ่ม ซึ่งแนวโน้มความต้องการสมุนไพรนั้นมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ยิ่งทำให้ความต้องการสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรผู้นี้สะท้อนออกมา จึงทำให้สรุปได้ว่า ในสภาวการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ไม่สามารถสร้างปริมาณผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการได้อย่างเพียงพอ โดยประธานแปลงใหญ่ย้ำว่า ปัจจุบันมีความต้องการสมุนไพรอินทรีย์จำนวนมากโดยเฉพาะวัตถุดิบแห้ง แต่กลุ่มไม่สามารถผลิตให้เพียงพอกับความต้องการได้
“ปัจจัยที่ทำให้เราผลิตได้เท่าไหรก็ไม่พอขาย คือการยึดคุณภาพเป็นสำคัญ สมุนไพรทุกชนิดต้องปลอดภัยและได้มาตรฐานตามคุณภาพการผลิต โดยโรงพยาบาลตระการพืชผล จะนำผลผลิตสมุนไพรไปตรวจหาสารพิษตกค้าง และตรวจปริมาณสารสำคัญในผลผลิตสมุนไพรทุกเดือน”
อีกประการและเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แปลงใหญ่พืชสมุนไพร หมู่ 4 ตำบลโคกจานประสบความสำเร็จก็คือเหล่าสมาชิกเกษตรกรแปลงใหญ่ ต่างมีความรักสามัคคี และมีเป้าหมายเดียวกันคือการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
นายราเชนทร์ กล่าวต่อไปว่า จากการเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่พืชสมุนไพรของกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้เกษตรกรสมาชิกได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ด้านการผลิต ไปจนถึงการตลาด ส่งผลทำให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการผลิต จนได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand)
“วันนี้กลุ่มเรายังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกสมุนไพรอินทรีย์ของเกษตรกรผู้สนใจจากจังหวัดต่าง ๆทั่วประเทศ และมีคนรุ่นใหม่ที่เป็น Young Smart Farmer ที่มีความสามารถด้านบริหารจัดการกิจการเข้ามาช่วยดูแลบริหารจัดการกลุ่ม และที่ภูมิใจอีกประการหนึ่งก็คือ กลุ่มเราสามารถขยายเป็นเครือข่าย ช่วยสร้างงานสร้างเงินให้กับเกษตรกรที่สนใจ อีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกขมิ้นชันอินทรีย์ ตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกขมิ้นชันอินทรีย์ ตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ”
สำหรับแผนงานในอนาคต ประธานแปลงใหญ่พืชสมุนไพร หมู่ 4 ตำบลโคกจาน บอกว่า ได้วางเป้าหมายว่า จะเพิ่มกิจกรรมด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสมุนไพรที่ปลูก ด้วยการนำสมุนไพรสด และแห้ง ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ลูกประคบ น้ำมันนวด ชาสมุนไพร เป็นต้น
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับแปลงใหญ่พืชสมุนไพร หมู่ 4 ตำบลโคกจาน แห่งนี้ คือ อีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงผลสำเร็จของการทำงานภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และได้สร้างประโยชน์ นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรสืบไป
July 08, 2020 at 04:44PM
https://ift.tt/2ZMCrj3
แปลงใหญ่พืชสมุนไพร ผลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 - สยามรัฐ
https://ift.tt/2MI7832
Bagikan Berita Ini
0 Response to "แปลงใหญ่พืชสมุนไพร ผลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 - สยามรัฐ"
Post a Comment