Search

ก้าวกระโดดบุรีรัมย์โมเดล กัญชาทางการแพทย์สู่สมุนไพรเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว - ผู้จัดการออนไลน์

herb-dokterethaliani.blogspot.com


เผยความสำเร็จ บุรีรัมย์โมเดลผลักดันกัญชาทางการแพทย์ 1 ปี รพ.คูเมือง ปั้นโมเดลจับคู่วิสาหกิจชุมชน ปลูกกัญชาป้อนผลิตยา ไฟเขียวผลิตทั้งน้ำมันกัญชาและแคปซูล 12 ตำรับ รักษาผู้ป่วยทั่วจังหวัด แย้มญี่ปุ่นสนใจนำสาร CBD ในกัญชาต่อยอดเครื่องสำอาง-อาหารเสริม ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ เผย งานพันธุ์บุรีรัมย์ปี 62 สร้างรายได้มากถึง 500 ล้าน เตรียมเสนอจัดงานกัญชาบุรีรัมย์ปี 64 เปิดแหล่งเรียนรู้การปลูกและผลิต สู่กัญชาเพื่อการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่อุทยานดอกไม้เพ ลา เพลิน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ได้มีการจัดงาน “ก้าวกระโดดบุรีรัมย์โมเดล” เพื่อเผยแพร่ผลงานการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดนิทรรศการความก้าวหน้าในการปลูก สกัดสาร และการรักษาด้วยกัญชาเพื่อการแพทย์ การยกระดับสมุนไพร ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กิจกรรมเสวนา และคลินิกกัญชา โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ตรวจวินิจฉัยและรับน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิขวัญข้าว ให้กับผู้ที่สนใจภายในงาน

พร้อมกันนี้ โรงพยาบาล (รพ.) คูเมือง ได้ส่งมอบยาน้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น ที่มีสาร CBD ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัด นำไปรักษาผู้ป่วย โดยมี นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธาน และได้ส่งมอบยาทำลายพระสุเมรุและยาศุขไสยาศน์ ให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมี นายปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นตัวแทนรับมอบ


นพ.ภุชงค์ ไชยชิน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า สสจ.บุรีรัมย์ เล็งเห็นความสำคัญในการใช้กัญชาทางการแพทย์รักษาผู้ป่วย ซึ่งในจังหวัดมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ครบทั้ง 23 แห่ง และมีโรงพยาบาล (รพ.) คูเมือง ที่สามารถผลิตยากัญชาทางการแพทย์ได้เป็นแห่งที่ 3 ของประเทศ มีวิสาหกิจศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพร เพ ลา เพลิน เพื่อชุมชน ที่สามารถปลูกเป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนและการต่อยอดจากต้นแบบบุรีรัมย์โมเดล ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกร่วมกัน ที่สามารถปลูก ผลิตและนำกัญชาไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้ รพ.คูเมืองและวิสาหกิจชุมชนฯ เพ ลา เพลิน ร่วมกันส่งมอบองค์ความรู้ทั้งในเรื่องการปลูก และการขออนุญาตให้กับวิสาหกิจชุมชนและโรงพยาบาลต่างๆ ขออนุญาตปลูก ทำให้มีวิสาหกิจชุมชนที่ทำเอ็มโอยูร่วมกับโรงพยาบาล ได้รับใบอนุญาตปลูก ในปีนี้จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ลำปลายมาศ รพ.หนองหงส์ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรนอกกรอบเพื่อรอยยิ้มที่ยั่งยืน รพ.ละหานทราย ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอินทรีย์เพื่อสุขภาพละหานทราย และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 9 แห่ง ที่จะทำการปลูกกัญชาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยา โดยให้ รพ.คูเมืองเป็นผู้ผลิตและส่งกลับคืนให้โรงพยาบาลนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย


• รพ.คูเมืองเผย ได้ไฟเขียวผลิตยากัญชา 12 ตำรับ

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) คูเมือง ระบุว่า รพ.คูเมือง ได้ดำเนินการและต่อยอดการผลิตกัญชาทางการแพทย์ เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องการผลิต โดยมีโรงผลิตยาสมุนไพรที่ได้รับมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) แห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาวิจัย พัฒนาข้อมูลสายพันธุ์ และกระบวนการผลิตเพื่อสกัดสารตั้งต้น CBD และ THC ก่อนนำไปผลิตเป็นยาแผนไทย และยาแผนปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง

โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนฯ เพ ลา เพลิน เพาะปลูกและวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ค่าสารสำคัญ CBD ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาในรูปแบบยาน้ำมันหยดใต้ลิ้น ยาแคปซูล ได้รับอนุมัติทั้งหมด 12 ตำรับ นำมาใช้รักษาผู้ป่วย พร้อมทั้งเปิดคลินิกกัญชาในโรงพยาบาล 23 แห่งทุกอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังการศึกษา เรียนรู้ และวิจัย เพื่อเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาล และวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ นับร้อยแห่งทั่วประเทศ


“ตอนนี้เราทำได้ค่อนข้างไกล จากเมื่อปีที่แล้วไม่มีอะไรเลย ทั้งองค์ความรู้ ความสามารถ ศักยภาพและเครื่องมือต่างๆ พอครบ 1 ปีถือว่าเติบโตค่อนข้างมาก วันนี้เราสามารถผลิตยาออกมา ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้กำลังดูเรื่องความต้องการทางปลายน้ำ คือ โรงพยาบาล ถ้าต้องการยาที่เป็นกัญชาทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน ก็พร้อมสนับสนุนได้ทันที ตอนนี้มีทีมงานที่มีความรู้ มีเครื่องมือที่สามารถสกัดยาได้แล้ว เป้าหมายสำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้กระแสปลายน้ำสามารถผลิตยาได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของโรงพยาบาลและผู้ป่วย” นพ.กิตติ กล่าว

นพ.กิตติ กล่าวว่า ศักยภาพของ รพ.คูเมือง มีเครื่องสกัดยา และเครื่องมือแล็บที่ประเมินสารสำคัญของยา ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตยาให้ได้คุณภาพ กระทั่งคุยกับต้นน้ำ คือวิสาหกิจชุมชนที่เพาะปลูกกัญชาว่า สายพันธุ์ไหนเหมาะสม และปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกอย่างไรบ้าง เช่น การปรับแสงหรือปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้ได้สารสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก รพ.คูเมือง เป็นโรงพยาบาลของรัฐ ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและบุคลากร หากได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรและเครื่องมือจากกระทรวงสาธารณสุข ก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของสารสกัดให้ดีขึ้น


หมอธีระวัฒน์ ชูผลิตภัณฑ์กัญชาปลอดภัยสูงสุด

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า บุรีรัมย์โมเดล บ่งบอกว่า ถ้ารับทราบประโยชน์การใช้สมุนไพร ทั้งกัญชาและกัญชงในระดับผู้ควบคุมนโยบาย และขับเคลื่อนนโยบาย จะส่งผลไปถึงผู้ผลิต ผู้ปลูก ผู้สกัด ผู้ใช้ และผู้ที่ต้องการรับการรักษาเข้าใจประโยชน์และสนับสนุนการใช้สมุนไพร บุรีรัมย์โมเดลได้ผ่านกระบวนการของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถึงจุดที่รับรู้ได้ว่า ผลิตภัณฑ์กัญชามีความปลอดภัยที่สุด ไม่มีพิษ เพราะเจือจางมากอยู่แล้ว

เช่น น้ำมันกัญชาของ อ.เดชา ซึ่งมีความเจือจางและปลอดภัยสูงสุด ถือว่าอยู่ในระดับ 3 ที่มีผลิตภัณฑ์และรู้วิธีการใช้ว่าจะต้องไม่รีบร้อน ไม่คิดว่าใช้แล้วจะเห็นผลวันนี้พรุ่งนี้ เพราะตามกลไกกัญชาจากภายนอกจะเข้าไปกระตุ้นร่างกาย ให้สร้างกัญชาจากร่างกาย ทั้งระบบสมองและส่วนอื่นๆ ให้รับรู้ มีการทำงานขึ้น และจะเข้าไปเยียวยา รักษาซ่อมแซมโรคที่ผู้ป่วยรายนั้นเป็น ซึ่งต้องไม่ใจร้อนและไม่รีบร้อน หากใช้ไป 3-5 หยดก็เพิ่มปริมาณขึ้น ซึ่งไม่ใช่หลักการใช้กัญชาที่ถูกต้อง


• ชี้ระเบียบการปลูกยันขึ้นทะเบียนไม่สะดวก ปิดกั้นภูมิปัญญาชุมชน

เมื่อถามว่า อุปสรรคในด้านนโยบาย มีอะไรอยากจะแก้ไขเพิ่มเติม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่อุปสรรคอยู่ที่กฎระเบียบในการปลูก การผลิต การใช้และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมกัญชา หากมองกัญชาหรือกัญชงเป็นพืชยาเสพติดตลอด กฎหมายหรือกฎกระทรวงที่ออกมาแทนที่จะเปิดให้เข้าถึงการใช้สมุนไพรได้อย่างเต็มที่ กลายเป็นคอขวดใช้ไม่ได้

ขณะเดียวกัน มีการสร้างกฎระเบียบที่สร้างความไม่สะดวกให้กับผู้ป่วย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อย โดยไม่มีความเข้าใจกัญชาในระดับชุมชน และภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งถ้าทำให้สะอาด ไม่มีสารเคมีเจือปน และทำให้เจือจาง ก็มีประโยชน์เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นระดับทางการแพทย์ หรือ เมดิคัล เกรด (Medical Grade) แม้จะไม่ได้สร้างสัดส่วนจากผลิตภัณฑ์ชุมชน 100% ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเราใช้การเจือจางที่สุดก่อน แล้วค่อยๆ รอเวลาปรับปริมาณหรือปรับขนาดเท่านั้น

“เมื่อ 3 ปีที่แล้วแนะนำผู้ป่วยที่ไม่มีทางเลือก ใช้กระบวนการและผลิตภัณฑ์กัญชาของชุมชนทั้งสิ้น แต่ขณะนี้มีกัญชาที่ใช้ง่าย อย่างสูตรของ อ.เดชา ในอนาคตอันใกล้จะมีเมตตาโอสถ ซึ่งเป็นกลุ่มสาร THC และคณะรวม หรือการุณโอสถซึ่งเป็นกลุ่มกัญชงและคณะ ที่มี CBD และคณะ ซึ่งอาจจะใช้เดี่ยวและใช้ผสมก็ได้ ซึ่งจะทำให้มีความสะดวกแก่ผู้ใช้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว


• แย้มญี่ปุ่นสนใจสาร CBD ในกัญชาทำเครื่องสำอาง-อาหารเสริม

น.ส.ธนพร พรสง่ากุล นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์เคมี ประจำวิสาหกิจศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพร เพ ลา เพลิน เพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนฯ ร่วมมือกับชาวบ้าน เริ่มต้นปลูกกัญชาในระบบปิด เพื่อใช้เป็นฟาร์มปลูกกัญชาที่ได้มาตรฐาน ส่งให้กับ รพ.คูเมือง ผลิตยาจากสมุนไพรทั้งแผนปัจจุบัน และแผนไทย ในช่วงเริ่มต้นได้ปลูกกัญชา 2 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศ ทั้งหมดเกือบ 230 ต้น และตั้งเป้าหมายที่จะผลิตยากัญชาส่งให้กับโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งมีกว่า 20 โรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังได้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ให้ความสนใจนำสาร CBD ในกัญชาที่ปลูกในจังหวัดบุรีรัมย์ นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอาง เช่น ครีมทาหลังอาบน้ำ มาส์กหน้าบำรุงผิว และโลชั่นปลูกผม หรือ อาหารเสริมแก่ผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น หากสามารถกระจายตลาดในประเทศญี่ปุ่น ก็จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้เพาะปลูกในพื้นที่ โดยวิสาหกิจชุมชน เพ ลา เพลิน จะให้ความรู้ในการเพาะปลูก และการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งกฎระเบียบในการให้คำแนะนำได้ เพื่อขับเคลื่อนในทางที่ดี สร้างภาพลักษณ์กัญชาและกัญชงในรูปแบบเหมาะสม


• ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ชงจัดงาน กัญชาบุรีรัมย์ ปี 64 กระตุ้นท่องเที่ยว

นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวในระหว่างพิธีส่งมอบยาน้ำมันกัญชาแก่ สสจ.บุรีรัมย์ ว่า แม้กัญชาจะยังเป็นพืชยาเสพติด แต่ก็เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อย่างมาก คนไทยและชาวบุรีรัมย์ได้ตระหนักและเปิดพื้นที่มาแล้ว เช่น การจัดงานพันธุ์บุรีรัมย์ เมื่อปี 2562 มีผู้เช้าชมงานและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 500 ล้านบาท ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ กัญชาได้รักษาคนบุรีรัมย์ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีการให้ความรู้และแสดงให้เห็นว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นที่ประจักษ์

อาทิ การช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ การนำร่องรัฐวิสาหกิจชุมชน ทดลองเพาะปลูกเพื่อเรียนรู้ ผลักดันกัญชาไปสู่การนำไปใช้ทางการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคที่สำคัญให้หายขาดได้ นับเป็นโอกาสดีที่ในระดับกระทรวงและระดับจังหวัดได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งทางการแพทย์ เพราะการใช้ยาต่างๆ ที่เป็นสารเคมีอาจจะไม่ได้ผลเพียงพอ กัญชาจากธรรมชาติจะช่วยให้เกิดความสมดุลของร่างกาย


ขณะเดียวกัน กัญชาทางการแพทย์ถือทิศทางไปสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เพราะการปลูกพืชผลทางการเกษตรแบบเดิมได้ผลผลิตไม่แน่นอน เนื่องจากภัยธรรมชาติ และราคาที่ไม่เป็นธรรม เชื่อว่าจังหวัดบุรีรัมย์เป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตมีคุณภาพดี เกษตรกรจะมีรายได้ที่ดีขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นสู่กัญชาเพื่อการท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปลูก การสกัด การนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ยาและอุตสาหกรรมต่างๆ เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้รักสุขภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

“สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดบุรีรัมย์ไม่สามารถจัดงานกิจกรรมใหญ่ๆ ได้ แต่ในปี 2564 ทางจังหวัดได้เสนองบประมาณจัดงานวันกัญชาอีกครั้ง เพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งกัญชาทางการแพทย์ กัญชาทางเศรษฐกิจ และกัญชาเพื่อการท่องเที่ยว โดยจังหวัดจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้กัญชาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นความหวังของประเทศไทย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างความสุขทั้งกายและใจ” นายธัชกร กล่าว





September 24, 2020 at 05:00AM
https://ift.tt/32XxtCR

ก้าวกระโดดบุรีรัมย์โมเดล กัญชาทางการแพทย์สู่สมุนไพรเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/37ceLI4


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ก้าวกระโดดบุรีรัมย์โมเดล กัญชาทางการแพทย์สู่สมุนไพรเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Blogger news

Powered by Blogger.